เวทีระดมไอเดียเครือข่ายเอเปค

‘ตรีนุช’ เปิดเวทีระดมไอเดียเครือข่ายเอเปค ถกทิศทางการศึกษา

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดการประชุม APEC Education Conference “The Collaborative Direction of Education, Employment and Decent Work in the VUCA World การพัฒนาเครือข่ายเอเปคเพื่อการมีงานทำในโลกที่ผันผวน” ว่า ศธ. ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปคเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว และวันนี้ตนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดการประชุมในกรอบความร่วมมือเอเปคอีกครั้ง​ ณ กรุงเทพฯ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีทางวิชาการที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความผันผวน

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาทักษะเป็นอย่างมาก โรงเรียนและสถานที่ทำงานต่างต้องปรับตัวเพื่อให้การเรียนรู้ไม่หยุดชะงัก โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ว่าควรมีแนวหรือมาตรการอย่างไรที่จะเดรียมตัวให้พร้อมกับโลกในยุคที่ผันผวน ซึ่งประเทศไทยมีความพยายามที่จะดำเนินนโยบายที่หลากหลาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง โดย ศธ. ให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น คือ

1. ศธ.สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนทั้งสายสามัญฯ และ สายอาชีพ อย่างมีคุณภาพในสถานศึกษา ผ่านการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เน้นการเรียนรู้ด้านสะเต็ม (STEM) ศิลปะ และสหกิจศึกษา และให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยจัดทำโครงการ​​ “พาน้องกลับห้องเรียน” เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากการออกกลางคันของผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนกลับเข้าสู่ห้องเรียนเต็มจำนวน

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

2. มุ่งมั่นยกระดับการพัฒนาการศึกษาให้ได้มาตรฐานนานาชาติ ผ่านการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียนและการมีงานทำ ตลอดจนยังได้เข้าร่วมโครงการ PISA และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับฟังประสบการณ์ของเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับ PISA ในการประชุมนี้

3. ประเทศไทยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างกัน โดยร่วมกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคจัดทำกรอบคุณวุฒิอ้างอิงผลการศึกษาระหว่างกัน

ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในครั้งนี้จะช่วยให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ขบคิดถึงโลกที่ผันผวน และสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานครั้งนี้ได้สนับสนุนให้การดำเนินงานตามแผนงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปคสำเร็จต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว

ด้านนายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติด้านการศึกษาที่จะมีส่วนขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย เพื่อรับความท้าทายหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก การประชุมนี้จะรับฟังความคิดเห็นจากเยาวชนใน 21 เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกเอเปค ว่าต้องการพัฒนาการศึกษาด้านไหนบ้าง ประกอบกับรับฟังความเห็นจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศสมาชิก และนำข้อมูลเหล่านี้มารวบรวมและกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันเพื่อการศึกษาและการจ้างงานในอนาคต

ติดตามข่าวสารเพิ่มเิตมได้ที่ theglasslady.net

Releated